วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ตำนานกระทงสายไหลประทีบ ๑ooo ดวง ของจังหวัดตราก

ตำนานกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง ของจังหวัดตาก
ด้ายตีนกา

กระทงกะลา

 ตำนานการฟั่นด้ายตีนกา
     เหตุที่ต้องฟั่นด้ายดิบเป็น รูปตีนกา นั้น มีตำนานเล่าขานจากผู้เฒ่าผู้แก่สืบทอดต่อกันมาว่า ในอดีตกาลมี สามเณรน้อย ผู้ชอบเที่ยวซุกซนอยู่รูปหนึ่ง มีนิสัยที่ชอบล่าสัตว์ ยิงนก ตกปลาเป็นประจำ วันหนึ่งเณรน้อยได้ยิงไก่ วัว เต่า และพญานาค ตาย จึงเกิดสำนึกในบาปที่ตนได้กระทำมาตลอด จึง ได้อธิษฐานกับพวกไก่ วัว เต่า และพญานาค ว่าถ้าได้เกิดมาในชาติหน้าขอให้เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน

     ณ ริมฝั่ง แม่น้ำคงคา มีต้นไทรอยู่ต้นหนึ่งเป็นที่อาศัยของกาเผือกสองตัวผัวเมีย ซึ่งได้ออกไข่มา ๕ ฟอง อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่กาเผือกสองตัวผัวเมียออกเที่ยวหาอาหารอยู่นั้น ท้องฟ้ามืดครึ้ม มีลมพัดแรง ได้พัดเอาไข่ ๕ ฟอง ตกลงในแม่น้ำ แต่ไข่นั้นหาจมน้ำไม่ กลับลอยไปติดชายหาดแห่งหนึ่ง และไข่ทั้ง ๕ ฟอง ก็แตกออกมาเป็นเด็กทารก ๕ คน คือ เณรน้อย ไก่ เต่า วัว และพญานาคที่มาเกิดนั้นเอง ทารกทั้ง ๕ คน ก็พากันตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าตนทั้ง ๕ เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ก็ขอให้มีโอกาสพบพ่อแม่ด้วยเถิด

     ส่วนกาเผือกสองตัวผัวเมีย เมื่อตายลงไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ จึงมาเข้าฝันทารกทั้ง ๕ คน ว่า “ หากเจ้าทั้ง ๕ คน อยากเห็นหน้าและระลึกถึงพ่อแม่ ก็จงฟั่นด้ายเป็น รูปตีนกา แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป ” ต่อมาทารกทั้ง ๕ คน ก็ได้สำเร็จอรหันต์เป็น พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ด้วยเหตุนี้การลอยกระทงสายทุกครั้ง จึงมีการฟั่นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อบูชาแม่กาเผือกของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งเป็นงานประเพณีการลอยกระทงสายของจังหวัดตากไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง สืบมาจนทุกวัน



งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง

     งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง ของจังหวัดตาก เป็นงานประเพณีที่นำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน และงานศิลปวัฒนธรรม มาหล่อหลอมรวมกันจนเกิดเป็นรูปแบบที่โดดเด่น ได้มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน ซึ่งจะแตกต่างกับงานประเพณีลอยกระทงของจังหวัดอื่น เพราะส่วนประกอบของกระทงจะมีการนำ กะลามะพร้าว มาใช้เป็นส่วนใหญ่ เหตุที่มีการนำเอากะลามาเป็นส่วนประกอบนั้น เนื่องมาจากชาวเมืองตาก มีการนำเอามะพร้าวมาแปรรูปทำเป็นอาหารว่าง ที่เรียกว่า “ เมี่ยง ” โดยถือเป็นอาหารว่างที่ชาวเมืองตากรับประทานเป็นประจำหลังอาหาร ซึ่งมีมะพร้าว ถั่วลิสง ใบเมี่ยงหมัก เป็นส่วนประกอบหลัก นอกจากทำเพื่อรับประทานกันเองภายในครอบครัวแล้ว ยังมีการนำมาขายเป็นอาหารพื้นเมืองและได้รับความนิยมในภาคเหนือโดยทั่วไป กรรมาวิธีในการแปรรูปมะพร้าวเป็น “ เมี่ยง ” นั้น มีการขูดเอาเฉพาะเนื้อมะพร้าวมาทำ ส่วนกะลามะพร้าวจะถูกทิ้งไว้ในบริเวณบ้านเป็นจำนวนมาก ไม่มีการนำเอามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

มะพร้าวและกะลา
กระทงกะลา



     ครั้นถึงวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ( วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติ ) ประมาณเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านจึงได้ทดลองนำกะลาด้านที่ไม่มีรูมาทำเป็นกระทง โดยเอากะลามาขัดถูจนสะอาด ตกแต่งลวดลายสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็น รูปตีนกา แล้วหล่อ เทียนขี้ผึ้ง ซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่พระสงฆ์จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนขี้ผึ้งเหล่านั้นมาหล่อใส่ในกะลา ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นศิริมงคลแก่ผู้นำไปลอย ก่อนที่จะปล่อยลงลอยในแม่น้ำปิง ประกอบกับแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะเกิดสันทรายใต้น้ำ ทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงามเป็นธรรมชาติ เมื่อนำ กระทงกะลา ลงลอย กระทงกะลาจะไหลไปตามร่องน้ำดังกล่าว ทำให้ดูเป็นสายอย่างต่อเนื่อง จนสุดสายตา ซึ่งไฟในกะลาจะส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ
     โดยเดิมทีก่อนที่จะมาเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง นั้น การนำเอากระทงกะลามาลอยเป็นสายจะเป็นเพียงการสาธิตการลอยเท่านั้น ซึ่งในระยะต่อมาได้มีการพัฒนาการลอยมาเป็นการแข่งขันกันอย่างยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 จนเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดตากที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

การสาธิตการลอยกระทงสาย




















ที่มา  http://krathongsaitak.tessabantak.go.th/index2.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น